Skip Content
ไทย / อังกฤษ

ขณะนี้คุณอยู่ที่ | หน้าแรก | วารสารปีที่ ๑๒ | Waluga Muentabutr, Tavee Cheausuwantavee, Penchan Sherer

วารสารวิทยาลัยราชสุดาเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนพิการ
วารสารปีที่ ๑๒


บทความวิจัย : ความสัมพันธ์ของภาพลักษณ์สตรีในอุดมคติและการเห็นคุณค่าในตนเอง
ของสตรีพิการทางกายและการเคลื่อนไหว ในจังหวัดลำปาง

ผู้วิจัย : วาลุกา หมื่นตาบุตร1, ทวี เชื้อสุวรรณทวี2, เพ็ญจันทร์ เชอร์เรอร์ 3

E-mail : tavee126@hotmail.com

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบผสมผสานโดยการสำรวจและการสัมภาษณ์เชิงลึกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบของทัศนคติด้านภาพลักษณ์สตรีในอุดมคติและระดับการเห็นคุณค่าในตนเองของสตรีพิการทางกายและการเคลื่อนไหวในจังหวัดลำปาง โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ สตรีพิการทางกายและการเคลื่อนไหว จำนวน 374คน เลือกโดยการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 2ส่วน ได้แก่ วิธีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ และวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยในส่วนของเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ หรือเชิงสำรวจนั้น ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล วัดระดับการเห็นคุณค่าในตนเอง และ วัดระดับการได้รับผลกระทบของทัศนคติด้านภาพลักษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS โดยการ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคสแควร์ ทดสอบค่าที ทดสอบค่าเอฟ หรือการวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือการสัมภาษณ์เชิงลึกนั้น ผู้วิจัยทำการสัมภาษณ์สตรีพิการ 3 ท่าน เพื่อประเมินความคิดเห็นในเชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ การวิเคราะห์ ตีความเชิงอุปนัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์


ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองโดยรวม อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่งสัมพันธ์ผกผันกับระดับการได้รับผลกระทบของทัศนคติด้านภาพลักษณ์ทางกาย ที่มีระดับผลกระทบโดยรวมปานกลางค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นว่าสตรีพิการที่ได้รับผลกระทบของทัศนคติด้านภาพลักษณ์ทางกายต่ำ จะเป็นผู้เห็นคุณค่าในตนเองสูง และสตรีที่ได้รับผลกระทบฯ สูงจะเป็นผู้เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลต่อระดับการเห็นคุณค่าในตนเองและระหว่างลักษณะส่วนบุคคลต่อระดับผลกระทบที่สตรีพิการได้รับจากภาพลักษณ์สตรีในอุดมคติ พบว่า ความแตกต่างของอายุส่งผลกระทบต่อทั้งระดับการเห็นคุณค่าในตนเองและระดับผลกระทบที่สตรีพิการได้รับจากภาพลักษณ์สตรีในอุดมคติ ส่วนลักษณะการประกอบอาชีพ(ประกอบอาชีพและไม่ได้ประกอบอาชีพ) ส่งผลกระทบต่อเพียงระดับการเห็นคุณค่าในตนเอง นอกจากนี้ ผลจากการวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติด้านภาพลักษณ์สตรีในอุดมคติที่ส่งผลต่อสตรีพิการมากที่สุด คือทัศนคติของความเป็นแม่ และความเป็นคู่ชีวิตที่สมบูรณ์ให้แก่เพศชาย


คำสำคัญผู้หญิง, สตรีนิยม, พิการ, ภาพลักษณ์, อุดมคติทางกาย, คุณค่าในตนเอง

วารสารฉบับเต็ม :ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม ภาพ icon เพื่อให้ทราบว่าเป็นไฟล์ PDF

menu-thai

* ความคิดเห็น ข้อมูล และบทสรุปต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ ในวารสารเป็นของผู้เขียนบทความ และมิได้แสดงว่า กองบรรณาธิการวารสารวิทยาลัยราชสุดาและ คณะผู้จัดทำเห็นด้วยทั้งหมด