Skip Content
ไทย / อังกฤษ

ขณะนี้คุณอยู่ที่ | หน้าแรก | ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑ | ดาริกา ใสงาม และปิยะรัตน์ นุชผ่องใส

วารสารวิทยาลัยราชสุดาเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนพิการ
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑ มกราคม - มิถุนายน ประจำปี ๒๕๔๙


บทความวิจัย : ผลของกิจกรรมกลุ่มที่มีต่อคนงานพิการแขนขาที่มีคะแนนอัตมโนทัศน์ต่ำ
ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี

ผู้วิจัย : ดาริกา ใสงาม และปิยะรัตน์ นุชผ่องใส

E-mail : timsaingam161@hotmail.com

บทนำ

ความพิการเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์และมีผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงชีวิตรวมทั้งจิตใจของคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนพิการภายหลังที่มีสาเหตุจากการเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน พวกเขาเคยเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีความภูมิใจในตัวเอง ดังนั้น ความพิการที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันจึงส่งผลด้านจิตใจต่อคนพิการเป็นอย่างมาก (ดวงกมล ช่างเขียน, 2530 อ้างใน พรนภา หอมสินธุ์, 2537) การที่บุคคลต้องสูญเสียแขนขาอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้บุคคลต้องปรับตัวต่อการดำเนินชีวิตใหม่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เนื่องจากแขนขาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เมื่อต้องสูญเสียอวัยวะที่สำคัญนี้ไปทำให้บุคคลมีข้อจำกัดทางร่างกายซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหว การทำงาน การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเกิดความไม่คล่องตัว ไม่สามารถทำกิจกรรมได้อย่างปกติหรือมีความสามารถลดลง เกิดความเสียเปรียบในการทำงาน รวมทั้งเป็นอุปสรรคในการมีส่วนร่วมในสังคม (กิตติยา รัตนากร, 2531) และยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขาคือ ท้อแท้ หมดหวัง เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มั่นคง ขาดความเชื่อมั่น มองโลกและตนเองในแง่ร้าย คิดว่าตนเองเป็นผู้ด้อยกว่าหรือขาดความสามารถเมื่อเทียบกับผู้อื่น เห็นคุณค่าในตนเองน้อยลง หมดกำลังใจในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ความพิการที่เกิดขึ้น จึงจัดได้ว่า เป็นช่วงวิกฤตของชีวิตที่อาจส่งผลให้คนพิการแขนขามีการเปลี่ยนแปลงของความคิดและอารมณ์ มีการประเมินเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น มองตนเองเป็นผู้ไร้ค่าและไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง หรือการประเมินความสามารถของตนเองต่ำกว่าความเป็นจริงหรือการไม่ยอมรับสภาพความพิการที่เกิดขึ้นกับตนเอง สิ้นหวังกับชีวิต (วันเพ็ญ อัศวศิลปกุล, 2539) ซึ่งจากการศึกษาของอำไพวรรณ พุ่มศรีสวัสดิ์และคณะ (2530) พบว่า ผู้ป่วยที่ถูกตัดแขนหรือขามีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองในด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคม ต่ำกว่าบุคคลปกติและมีอัตมโนทัศน์เกี่ยวกับตนเองในด้านลบแม้ระยะเวลาจะผ่านไปนาน


การพัฒนาอัตมโนทัศน์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในทางบวกนั้นสามารถทำได้โดยการใช้วิธีการปรึกษาทางจิตวิทยา (Fitts อ้างใน รุ้งนภา ผานิชรัตน์, 2534) และการใช้กิจกรรมกลุ่มมีคุณค่าและประโยชน์ต่อคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว เพราะสามารถที่จะพัฒนาความรู้สึกที่มีต่อภาพลักษณ์ของตนเอง เปลี่ยนทัศนคติและทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างคนพิการกับสิ่งแวดล้อม (Frye & Peters, 1972 อ้างใน Best, 1978) กิจกรรมกลุ่มมีประโยชน์ต่อกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตของคนพิการ ช่วยให้เห็นความสามารถของตนเอง เกิดความภูมิใจ เกิดความหวัง และรู้สึกสนุกที่ได้รับความรู้ใหม่ๆ (ศรีสมร สุริยาศศิน, 2542) นอกจากนี้ กิจกรรมกลุ่มยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม ทัศนคติ ความสนใจ และความเจริญงอกงามในด้านความรู้และทักษะ ซึ่งการได้พัฒนาในด้านต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดความภูมิใจ มั่นใจ เข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าในตนเอง (Strange, 1958 อ้างใน ชูวิทย์ รัตนพลแสนย์, 2541)


ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จึงคาดหวังว่ากิจกรรมกลุ่มจะช่วยพัฒนาอัตมโนทัศน์ของคนงานพิการแขนขาที่ได้รับความพิการภายหลัง ให้เขายอมรับตนเองและมีความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อตนเองในด้านร่างกาย ส่วนตัว ครอบครัว และสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เขาสามารถปรับตัวกับสภาพพิการและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข


คำสาคัญ: ผลของกิจกรรมกลุ่ม, อัตมโนทัศน์ต่ำ, ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน, จังหวัดปทุมธานี

วารสารฉบับเต็ม :ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม ภาพ icon เพื่อให้ทราบว่าเป็นไฟล์ PDF

menu-thai

* ความคิดเห็น ข้อมูล และบทสรุปต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ ในวารสารเป็นของผู้เขียนบทความ และมิได้แสดงว่า กองบรรณาธิการวารสารวิทยาลัยราชสุดาและ คณะผู้จัดทำเห็นด้วยทั้งหมด